top of page

1. สืบสาน งานวันพ่อท่านคง

          จัดงานสืบสาน "งานวันพ่อท่าน" เพื่อแสดงมุทิตาจิตต่อพระครูธรรมโฆษิต (พ่อท่านคง โกกนุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาส พร้อมเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

          วัดธรรมโฆษณ์ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อแสดงมุทิตาจิตต่อพระครูธรรมโฆษิต    (พ่อท่านคง โกกนุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาส พร้อมเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ช่วยกันสืบสานประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม โดยมีนายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน และมีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

           กิจกรรมในครั้งนี้ได้มีการร่วมกันอัญเชิญรูปเหมือนพ่อท่านคง พ่อท่านเห้ง และพ่อท่านขวาง 3 เกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมโฆษณ์ แห่รอบพระอุโบสถ โดยมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากร่วมถือสายสิญจน์เข้าร่วมขบวนแห่ 3 รอบ จากนั้นได้อัญเชิญรูปเหมือนทั้ง 3 รูปขึ้นบุษบก ก่อนจะร่วมในพิธีสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และบ้านเมืองตลอดไป สำหรับเกจิอาจารย์ชื่อดัง 3 ท่านนั้น ถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวใต้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีการทำเหรียญ วัตถุมงคล เครื่องรางของขลังเป็นจำนวนมาก ขณะที่หลายหน่วยงานมุ่งให้มีการนำคุณธรรม และวัตรปฏิบัติของพ่อท่านมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ จึงได้มีการจัดงานวันพ่อท่านขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่น ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกิจกรรมี่ส่งเสริมด้านศาสนา ทุกศาสนา จะร่วมส่งเสริมให้มีการจัดงานกันอย่างแพร่หลาย ให้เป็นที่รู้กว้างขวางมากขึ้นในทุกกิจกรรม

2. ประเพณีลอยแพของชาวม่วงงาม

          การลอยแพบรรพบุรุษมีความเชื่อว่า ร่วมกันสะเดาะเคราะห์ อบตำบล ม่วงงามจึงได้จัดกิจกรรมการลอยแพ เป็นกิจกรรมหนึ่งของงาน สองศาสน์สัมพันธ์ การจัดทำแพ ไม่ยากเลย ส่วนประกอบของแพ ดังนี้

          1. ฐาน ประกอบด้วยหยวกกล้วย หรือวัสดุอื่นๆ ที่ลอยน้ำได้

          2. ตัวแพ ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ ได้เช่น สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ และอาจเป็นรูปเรือ รถยนต์ เครื่องบิน ยานอวกาศ บ้านเรือน กระท่อม ศาลาฯลฯ

          3. เสากระโดง สำหรับติดใบแพ ซึ่งทำด้วยผ้าเพื่อรับแรงลมให้แพเคลื่อนที่ได้ไปตามกระแสลม หรือกระแสน้ำ

          4. หางเสือ เป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางบังคับให้ตัวแพเคลื่อนที่ไปตามกระแสลม-น้ำ เพื่อมิให้เคลื่อนที่ผิดทิศทางลมได้

          5. สิ่งของที่นำไปลอยแพ (วางไว้ในแพ) ได้แก่ เตาไฟ ไม้ฟืนหรือถ่านไฟ ไม้ขีดหรือๆไฟแช็ค ข้าวสาร ขมิ้น เกลือ กะปิตะไคร้หอม กระเทียม ดีปลีพริก ธูป เทียน สาด หมอน เสื้อผ้าเล็บมือ เล็บเท้า ผม ขนฯลฯ

          6. ลอยแพทำไม โบราณเชื่อว่า สะเดาะเคราะห์ เพื่อกำจัดภัยพิบัติ และโรคร้ายและเป็นการรักษาประเพณี มีความสามัคคี ได้รับความสนุกสนาน

3. งานประเพณีประจำถิ่น ห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์

          สืบสานประเพณีประจำถิ่น “จัดพิธีมหากุศลห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์” นำประชาชนในพื้นที่ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองสิงหนครสู่มหานครสงขลา

          ที่วัดเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ประชาชนในพื้นที่ร่วมสืบสานประเพณีประจำถิ่นแห่ผ้าห่มพระธาตุเจดีย์ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ไทยเพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองสิงหนครสู่มหานครสงขลา ตลอดจนการสืบทอดพระพุทธศาสนาที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี

          วันห่มผ้าบรมธาตุเจดีย์ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงได้เดินทางมาร่วมสักการะและบูชาต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์ และรำลึกถึงบรรพชนที่ได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ แม้ปัจจุบันจะหลงเหลือแค่ฐานเจดีย์และร่องรอยของเจดีย์ แต่ไม่หมดไปจากความทรงจำของทุกคน จึงเป็นเหตุแก่การกระทำคุณงามความดีในการร่วมกันห่มผ้าบรมธาตุเจดีย์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีย้อนร้อยอดีตเมืองเก่าสงขลา โดยบรรยากาศในพิธีเป็นไปอย่างคึกคักท่ามกลางประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

          สำหรับเจดีย์เขาน้อย เป็นศาสนสถาน ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางของไทย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 -15 และคงได้รับอิทธิพล รูปแบบศิลปกรรมจากแหล่งเดียวกันคืออินเดีย ทำให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก สังเกตได้จากลักษณะของแผนผังที่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านยกเก็จออกมา 3 เก็จ คือมีเก็จที่มุมและที่กลางด้าน รวมทั้งอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง

          นอกจากนี้ในสมัยต่อมาเจดีย์เขาน้อย ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 23 - 24 โดยการสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานประจำอยู่โดยรอบ ส่วนด้านบนมีเพียงกองอิฐที่น่าจะเกิดจากการบูรณะในชั้นหลังเท่านั้น

4. ประเพณีแต่งงานกับนางไม้

        กระแสที่หนึ่ง นางไม้ตอนที่ยังมีชีวิตนั้นมีพื้นเพอยู่บริเวณวัดมะม่วงหมู่ เป็นลูกสาวของย่าจันทร์ กับ ตาเจิม ซึ่งเรียนกันว่า พ่อเจ้า แม่เจ้า ไม่ได้แต่งงาน จึงถวายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเป็นที่สร้างวัด เมื่อตายไปก็ปรากฏให้ชาวบ้านเห็นบ้าง เข้าฝันชาวบ้านว่าตนเองอยู่ที่ต้นมะม่วงดังกล่าวบ้าง เมื่อชาวบ้านเกิดความเชื่อจึงมีการบนบานศาลกล่าวยามที่ตัวเองประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือความเดือดร้อนจากสาเหตุต่าง ๆ เมื่อสำเร็จตามวัตถุประสงค์ก็มีการนับถือต่อกันมา และมีพิธีกรรมบวงสรวงถึงปัจจุบัน กระแสที่เล่าสืบต่อกันมาในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการกล่าวถึงในลักษณะของการนับถือบรรพบุรุษของชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกกันว่านับถือ "พ่อแม่ตายาย” เป็นการไหว้พ่อแม่ตายาย ที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ และเรียกพ่อแม่ตายายดังกล่าวว่า "ทวดแม่ม่วงทอง” ที่เรียกว่า "ทวดแม่ม่วงทอง” เนื่องจากภาพที่ปรากฏให้ชาวบ้านเห็นในความฝันหรือการบอกเล่าผ่านคนทรงว่า การแต่งตัวของทวดแม่ม่วงทองเต็มไปด้วยทองคำทั้งกำไลมือ กำไลข้อเท้า สร้อยคอ ปิ่นปักผมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้กลัดผม แวววาวไปทั้งตัว มีหน้าตาสดสวยงดงาม ประจวบกับแม่ม่วงทองสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงคัน ขนาดใหญ่ ลำต้นกลวงเป็นโพรงคนสามารถเข้าไปอยู่ภายในได้หลายคน จึงเป็นที่มาของชื่อ "แม่ทวดม่วงทอง”

          กระแสที่สอง "มีธิดาของเจ้าเมือง ได้เดินทางมาเที่ยวป่าและถูกลูกของเมียน้อยฆ่าตาย ยัดใส่ไว้ในโคนมะม่วง” หรืออีกแนวหนึ่งว่า "แม่ม่วงทองแต่ก่อนเป็นธิดาของเจ้าเมืองได้หนีซัดเซพเนจรมาสองคนพี่น้อง พร้อมมีเครื่องทรงเต็มตัว เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณวัดมะม่วงหมู่ ซึ่งมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่อยู่ ทั้งสองคนมาพักอยู่ในโพรงมะม่วง เมื่อหิวจัดก็ไม่รู้จะกินอะไร คนผู้พี่ซึ่งเป็นแม่ทวดม่วงทองได้เชือดเนื้อของตนให้น้องสาวกิน แต่ผู้เป็นน้องไม่กินเลยชวนกันฆ่าตัวตาย เมื่อตายแล้วปรากฏนิมิตให้คนหลายคนรู้ว่าตนอยู่ที่ต้นมะม่วงนี้ และแสดงปาฎิหาริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ ผู้ที่ประสบเข้าจึงเชื่อถือบนบานศาลกล่าว เมื่อสมประสงค์จึงมีการนับถือสืบ ๆ กันมาดังปัจจุบัน”

          ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ทวดแม่ม่วงทอง หรือนางไม้ดังกล่าวได้สิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วง ซึ่งมีขนาดใหญ่ โดยปรากฏให้ชาวบ้านเห็นและเข้าฝันบอกให้ชาวบ้านรู้ ต่อมาเมื่อต้นมะม่วงดังกล่าวโค่นล้มลงตามธรรมชาติ และต้นมะม่วงดังกล่าวผุพังลงเหลือเฉพาะแก่น สามารถยกได้ด้วยกำลังคนเพียงคนเดียว จึงได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งพิงไว้กับต้นอินทนิลขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากต้นเดิมที่หักโค่นลงมากนัก "จวบจนปี 2508 ทางวัดต้องการสถานที่ดังกล่าวเพื่อก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาส จึงได้โค่นต้นอินทนิลซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าแม่ทวดม่วงทองสิงสถิตอยู่ลง”

          การโค่นต้นอินทนิลของทางวัด ได้มีการทำพิธีอันเชิญให้แม่ทวดม่วงทองไปสิงสถิตยังต้นประดู่ซึ่งอยู่ทางมุมด้านทิศตะวันตกของวัด โดยหมอผู้ทำพิธีชาวอีสาน การทำพิธีอันเชิญนางไม้หรือทวดม่วงทองไปอยู่ยังสถานที่ใหม่ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้เป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยด้วยของ 12 อย่างโดยหมอพิธี หลังจากที่ทำพิธีอันเชิญแม่ทวดม่วงทองไปสิงสถิตอยู่ ณ ต้นประดู่ อันเป็นบริเวณตลาดนัดวันเสาร์ในปัจจุบัน การทำพิธีของชาวบ้านจึงต้องย้ายไป ณ บริเวณดังกล่าวด้วย

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ในการประกอบพิธีการไหว้ต้นไม้ใหญ่ของนายเสริม อำภา แม่ทวดม่วงทองได้เข้าทรงนางเหี้ยง ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดขันหมากของนางเปี่ยมผู้เป็นเจ้าพิธี เกิดการทรงแม่ทวดม่วงทองซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน การเข้าทรงครั้งนี้ต้องการบอกว่า สถานที่ที่ตนอยู่นั้นตั้งอยู่ในบริเวณตลาดนัด ทั้งโคนต้นไม้ที่ตนอยู่ยังถูกใช้เป็นที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำล้างปลาที่คนแขก(มุสลิม) ที่ขายปลามักนำมาเททิ้งตรงนี้ ทำให้สกปรก จนตนไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไปและได้บอกกล่าวในทำนองว่า ใครก็ตามที่มาทำพิธีเซ่นไหว้ตนที่ต้นประดู่แห่งนี้ตนจะไม่รับเครื่องเซ่น และหากใครต้องการเซ่นตนให้ไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่ต้นตะแบกท้ายตลาดซึ่งอยู่ถัดจากต้นประดู่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 30 เมตร อันเป็นที่อยู่ใหม่ของตน ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

          สำหรับรูปปั้นแม่ทวดม่วงทองซึ่งผู้ปั้นคือ นายเพียร บัลลังโก ได้ปั้นไว้เมื่อครั้งเป็นพระในวัดมะม่วงหมู่ ที่ปั้นก็เพราะถูกลูก หลานของแม่ทวดม่วงทองให้ปั้นรูปพ่อแม่ตายายของตนให้” และได้ตั้งไว้ใต้กุฏิวัดมะม่วงหมู่ ภายหลังมีการนำมาตั้งไว้ใต้ต้นตะแบก และได้สร้างหลังคากันแดดกันฝนให้แก่รูปปั้น ปัจจุบันรูปปั้นแม่ทวดม่วงทองได้มีชาวบ้านที่นับถือนำผ้าสีต่าง ๆ มาห่มให้ และนำทองคำเปลวมาติดไว้จนเหลืองอร่วมดังที่ปรากฏ

          ความมุ่งหมายของประเพณี

          1. เพื่อตอบสนองความต้องการที่พึ่งทางใจ อันเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาปฐมบรรพ์

          2. เพื่ออนุรักษ์ และการสืบสานประเพณีอันเก่าแก่ที่จัดสืบทอดต่อเนื่องกันมาช้านาน

          3. ส่งเสริมกระตุ้นให้ประชาชน เยาวชนให้มีความสนใจและช่วยกันอนุรักษ์ เผยแพร่ ประเพณีสืบต่อกันไป

ช่วงเวลาที่จัด  เดือน 6 จนไปสิ้นวันสุดท้ายของเดือน 8

© 2023 by Name of Site. Proudly created with Wix.com

bottom of page