
Songkhla Festival.com

1. ประเพณีการแข่งขันวัวชน
เป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคใต้ แข่งเพื่อความสนุกสนาน สนามชนวัวเป็นลานดินกว้างล้อมคอกไว้ เมื่อเจ้าของปล่อยวัวพ้นคอกวัวทั้งสองจะตรงรี่เข้าปะทะ และใช้เขาเสยเกยเขา ขาทั้งสี่ยืนหยัด สู้กันอย่างไม่ยอมถอย ส่วนคนดูรายล้อมกันแน่นขนัด วัวจะเป็นวัวกระทิง รูปร่างบึกบึนกำยำ เขา หัว ตัว และขาหน้าต้องแข็งแรงซึ่งเลี้ยงดูมาอย่างดี เมื่อวิ่งเข้าปะทะหัวชนหัว เสียงสนั่น ต่างไม่ยอมถอย ชนกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดแรงวิ่งหนีไป ในแต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีขึ้นอยู่กับความทรหดอดทนของวัวที่ฝึกฝนมา
การชนโคจัดให้มีขึ้นเดือนละครั้งแต่ละสนามสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป (หากตรงกับวันพระ การชนโคจะเลื่อนไป) ปัจจุบันมักจะเล่นเป็นการพนันเดิมพันกัน
ช่วงเวลา : เดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายน
สถานที่ : สนามกีฬาชนโคนานาชาติ อำเภอรัตภูมิ

2. งานประเพณีหล่อเทียนพรรษา
งานประเพณีหล่อเทียนพรรษา ณ วัดนาสีทอง รัตภูมิ อีกหนึ่งงานประจำประเพณีท้องถิ่นของรัตภูมิ มีการแสดงจากศิลปินใต้ ฉัตรชัย มงคลทอง และฌามาอาร์สยาม

3. งานลากพระรักษ์พรุ
ร่วมสืบสานประเพณีลากพระในงานลากพระรักษ์พรุ ณ ทะเลทิพย์คีรี ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา พบกับการประกวดเรือพระและขบวนแห่เรือพระทำบุญตักบาตร สมโภชเรือพระ การแข่งขันแทงต้ม การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน ออกร้านจำหน่ายสินค้า และกิจบันเทิงบนเวทีมากมาย
อำเภอรัตภูมิได้จัดให้มีการประกวดเรือพระที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยมีวัดที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอประมาณ 10 วัดได้ตกแต่งเรือพระตามแต่ละวัดจะจัดเตรียมมา ซึ่งส่วนมากก็จะเอาของที่ใช้เมื่อปีที่แล้วมาซ่อมและประดับประดาเสียใหม่
ช่วงเวลา : เดือนตุลาคม

4. งานพิธีลอดซุ้มประตูป่า
พิธีลอดซุ้มประตูป่า วัดห้วยหลาด ณ วัดห้วยหลาด อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดสืบเนื่องกันมายาวนานกว่า 60 ปี โดยจัดขึ้นในวันเพ็ญเดืน 6 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา
ความเป็นมาของ “พิธีลอดซุ้มประตูป่า”
“พระครูโกวิทธรรมสาร” หรือ “อาจารย์กลาย” เจ้าอาวาสวัดห้วยหลาดให้ข้อมูลว่า “พิธีลอดซุ้มประตูป่า” เป็นพิธีที่ได้คำชี้แนะมาจาก "หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท" ที่ได้ลงมาประทับทรงในร่างของพระอธิการขาว ติสฺสวํโส หรือ หลวงปู่ขาว เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 โดยให้มีพิธีลอดซุ้มประตูป่า เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้ญาติโยมที่มาร่วมทำบุญที่วัด ซึ่งจะมีการลงแรงของชาวบ้านในการสร้างซุ้มประตูป่าขึ้นมา เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ลอด พร้อมกับให้พระภิกษุสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์
ว่ากันว่า พิธีนี้ถอดแบบมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธกาล ที่เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเกิดโรคภัย ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาช่วยปัดเป่าขจัดทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น พระพุทธองศ์ได้สั่งให้พระอานนท์นำบาตรมาใส่น้ำประกอบพิธี ทำน้ำพระพุทธมนต์ ประพรมให้กับประชาชน ทำให้เกิดกำลังใจ พ้นจากทุกข์ จากโรคภัย ทางวัดห้วยหลาดจึงสืบต่อปฏิบัติกันมา จนเป็นพิธีลอดซุ้มประตูป่าในปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ ช่วงเช้าก่อนเริ่มพิธีลอดซุ้มประตูป่า จะมีการถวายมหาสังฆทาน เพื่อสร้างบุญร่วมกันก่อน กระทั่งช่วงบ่ายไปเล็กน้อยก็จะเข้าสู่ช่วงพิธีการ โดยชาวบ้านนับพันจะทยอยเข้าคิวต่อแถว โดยมีพระครูโกวิทธรรมสาร เจ้าอาวาสนำขบวนลอดซุ้มป่าผ่านไปก่อน แล้วจึงไปนั่งเจริญพระพุทธมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ญาติโยม ขณะเดียวกันพระภิกษุสงฆ์จะสวดมนต์เพื่ออวยพรชัย พร้อมทั้งเป็นการเสริมสิริมงคลให้ผู้ร่วมงานทุกคน
สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ และพระพุทธรูปในศาลากลางวัดห้วยหลาด โดยทั้งหมดทั้งสิ้นเกิดขึ้นได้ด้วยบารมีของ “หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท” พระผู้เป็นดั่งปฐมบทของวัดแห่งนี้ "งานลอดซุ้มประตูป่า” นับเป็นพิธีที่ญาติโยมจะได้ร่วมสักการบูชา ทำบุญเพื่อเป็นกุศลอุทิศแด่หลวงปู่สีมั่น เทพอินโท และที่สำคัญร่วมกันสืบสานสิ่งดีๆ ของท้องถิ่นให้อยู่สืบไปตราบนานเท่านาน เพราะนับเป็นประเพณีหนึ่งเดียวที่มีอยู่ ณ เวลานี้