top of page

1. งานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว

          จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ณ อำเภอเมือง พิธีจะเริ่มก่อนวันงานด้วยการห่มผ้าพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน ในวันงานเวลาเช้าจะเป็นพิธีตักบาตรเทโวบริเวณเชิงเขาตังกวน พระสงฆ์หลายร้อยรูปจะเดินลงมาจากเขาตังกวนเพื่อรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชน ตอนสายจะมีเรือพระจากวัดต่างๆในเขตจังหวัดสงขลาเคลื่อนผ่านให้พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมทำบุญและลากพระ ตามความเชื่อที่ว่าจะได้บุญกุศลสูง เรือพระจะมารวมกันที่บริเวณสระบัวเพื่อร่วมประกวดการตกแต่งเรือพระ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย

          ประเพณีชักพระ  หรือการแห่พระพุทธรูป ทั้งทางบกและทางน้ำ  จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี หลังเทศกาลออกพรรษา  เดือนตุลาคม ในงานพิธีมีการแห่พระพุทธรูปยืนปางประทานพร  ประดิษฐานในบุษบก  บนยานพาหนะที่ตกแต่งสวยงามเรียกว่า เรือพระ ซึ่งจะมีเชือกใหม่อยู่ข้างเรือพระข้างละ 1 เส้น เพื่อให้ประชาชนไปร่วมพิธีลากโดยทั่วไปหัวเรือพระจะทำเป็นรูปพระยานาคข้างละตัวขนานกัน ส่วนข้างบนเรือพระจะมีกลองสำหรับประโคม มีพระภิกษุสามเณรนั่งร่วมไปด้วยตามความเหมาะสม  เรือพระจะแห่แหนไปรอบผ่านชุมชนต่าง ๆ และที่สุดจะไปรวมกันบริเวณแหลมสนเพื่อทำพิธีทางศาสนาต่อไปในประเพณีนี้ ชาวพุทธในจังหวัดสงขลา จะทำขนสัญลักษณ์ของการชักพระ คือ ข้าวต้มมัดที่ห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยมนำไปบูชาพระประเพณีชักพระ  เกิดจากคติความเชื่อที่ว่า ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 นี้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  หลักจากที่ทรงขึ้นไปจำพรรษา  เสด็จจาการไปโปรดพระพุทธมารดา  พระนางสิริมหามายา แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์  ยังมีตำนานเล่ากันสืบมาอีกว่า  ในวันนั้นพุทธบริษัทสามารถมองเห็นเทวดาได้อย่างมหัศจรรย์อีกด้วย  จึงเป็นความชื่นชมยินดีของบรรดาพุทธบริษัทยิ่งนัก  วันนี้จึงได้ชื่อว่า  วันเทโวโลหนะ ชาวพุทธในจังหวัดสงขลาจึงนิยมตักบาตรในตอนเช้า ที่บริเวณเขาตังกวน เรียกว่า ตักบาตรเทโว

2. งานสมโภช เจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา

          เทศบาลนครสงขลา ร่วมกับจังหวัดสงขลา สมาคมฮกเกี้ยน องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คณะกรรมการชุมชนย่านเมืองเก่า ภาคีคนรักเมืองสงขลา สมาคมสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ขอเชิญเที่ยวงานสมโภช เจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยภายในงานมีกิจกรรมถนนคนเดินนางงาม ยามค่ำคืน พร้อมกิจกรรมไหว้พระหลักเมือง ชิมของหรอยเมืองบ่อยาง กิจกรรมอิ่มท้อง อิ่มบุญ 9 ห้อง 9 บาท พิธีอิ่วเก้งแห่พระรอบเมือง พิธีเวียนเทียนสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนและการแสดงอุปรากรจีน (งิ้ว) ทุกค่ำคืน

สำหรับการจัดงานสมโภช  เจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาฯ จัดขึ้นเพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนให้คงอยู่สืบไป และเป็นการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่มีความเชื่อมโยงมาตั้งแต่อดีตกาลของชาวจังหวัดสงขลาและเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ศาลหลักเมืองสงขลาอยู่คู่บ้านคู่เมืองสงขลามายาวนานถึง  ภายในศาลหลักเมืองมีองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องรักษาเมืองให้พ้นภัยพิบัติต่าง ๆ และเป็นที่เคารพสักการะและเป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวสงขลา

          นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยสร้างบรรยากาศเมืองสงขลาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ชาวสงขลามีการฟื้นฟูบ้านเรือนโบราณ เผยแพร่อาหารดั้งเดิม การแสดงศิลปะ ดนตรี ประเพณี ภาพถ่ายและของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ของสงขลา ช่วยส่งเสริมการค้าในย่านเมืองเก่า ผ่านทางกิจกรรมถนนคนเดิน กระตุ้นจิตสำนึกรักบ้านเกิดแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่มาเยี่ยมชมงาน ได้รับความรู้เรื่องเมืองเก่าสงขลา สร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ "7 วัน 7 คืน อิ่มบุญ อิ่มตา อิ่มใจ สู่ความสุขทุกครอบครัว"

3. งานสมโภชปู่ทวดหัวเขาแดง

          พิธีแห่พระรอบเมืองงานสมโภชปู่ทวดหัวเขาแดงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสงขลา ขบวนแห่พระงานสมโภชปู่ทวดหัวเขาแดง นำพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากศาลเจ้าต่างๆ ในจังหวัดสงขลาออกให้ประชาชนกราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

          เทศบาลนครสงขลา จัดร่วมกับ 5 สมาคมจีนใน จังหวัดสงขลา จัดขบวนแห่พระงานสมโภชปู่ทวดหัวเขาแดง อย่างยิ่งใหญ่โดยอัญเชิญทวดหัวเขาแดง และพระจากศาลเจ้าในเขตเทศบาลนครสงขลา ขึ้นตั้งบนเกี้ยวบนรถยนต์ที่ได้ตกแต่งอย่างสวยงาม และขบวนทรงเจ้าเคลื่อนไปตามถนนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสงขลา เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนและประชาชนทั่วไปในจังหวัดสงขลาได้กราบไหว้บูชา มีการจุดประทัดเสียงดังสนั่นตลอดทางที่ขบวนแห่พระเคลื่อนผ่านไปตามถนนรอบเมืองสงขลา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เมืองสงขลาในการขจัดสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากเมืองสงขลาด้วย        

          สำหรับงานสมโภชปู่เขาแดงเป็นงานประเพณีที่ จังหวัดสงขลา จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปู่ทวดเขาแดงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองสงขลาเคารพนับถือ สำหรับงานสมโภชทวดหัวเขาแดง ที่บริเวณสระบัวแหลมสมิหลา ไฮไลท์อยู่ที่พิธีลุยไฟพิธีเทกระจาดแบบโบราณ (ชีโกว)

          ณ ศาลเจ้าชั่วคราว บริเวณสระบัว แหลมสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายในงานจัดให้มี พิธีอัญเชิญหยกห๋องส่งเต่ พิธีป้ายชิดแช  บูชาดาวคุ้มครองเมือง พิธีโก้ยห่าน ข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ พิธีอิ่วเก้งแห่พระรอบเมือง พิธีประมูลวัตถุมงคลหน้าองค์พระ พิธีโก้ยโห้ย ลุยไฟ พิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ทวดหัวเขาแดงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีเทกระจาด และมีการสวดมนต์ทุกค่ำคืน

          สำหรับการจัดงานฯจัดขึ้นเพื่อร่วมกันส่งเสริมอนุรักษ์ธำรงรักษาประเพณีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “คู่บ้านคู่เมืองสงขลา” และเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสักการบูชาองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากศาลเจ้าต่าง ๆ

          สำหรับทวดหัวเขาแดง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตามความเชื่อของชาวบ้านใน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีตำนานพื้นบ้านเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ทวดหัวเขาแดง เดิมเป็นชายชราชาวจีนเดินทางมาจากผืนแผ่นดินใหญ่มุ่งสู่จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเรือสำเภาขนาดใหญ่

4. งานวันอนุรักษ์มรดกไทย

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กำหนดจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยมีการรณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

          ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายราชสักการะแด่พระองค์ท่าน ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยโดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมรดกของชาติ และร่วมกันสืบทอด อนุรักษ์สืบสาน ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นการสร้างจิตสำนึกให้อนุชนรุ่นหลังได้เกิดความรัก ความหวงแหนและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกไทยให้คงอยู่สืบไป องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงได้กำหนดจัดงานอนุรักษ์มรดกไทย ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม (วงสุนทราภรณ์) การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง ชิงชนะเลิศระดับภาคใต้ ครั้งที่ 8 พร้อมพิธีอัญเชิญถ้วยพระราชทาน และการแสดงของศิลปินแห่งชาติ อำเภอธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, อำเภอเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศิลปินโก้ มิสเตอร์ แซกแมน และ เล็ก ทีโบน พิธีทำบุญตักบาตรพิธีถวายราชสักการะฯ และพิธีเปิดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ชมการแสดงหนังตะลุงน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม การแสดงศิลปินลูกทุ่ง และตลอดทั้ง 5 วัน มีนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดการแสดงหนังตะลุง การประกวดดนตรีไทย กิจกรรมการออกร้านจำหน่ายสินค้า ของที่ระลึก สินค้า OTOP ของหน่วยงานต่าง ๆ

5. งานวัฒนธรรมสัมพันธ์

          งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ สงขลา ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สร้างความมีส่วนร่วมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับเครือข่าย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทุกภูมิภาคและอาเซียน ทั้งยังเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์เกษียณและศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย ลานวัฒนธรรมของคณะต่างๆ การประชุมและสัมมนาวิชาการ การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ หนังตะลุง โนรา การแสดงทางวัฒนธรรม 4 ภาค การแสดงต่างประเทศ การจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าราคาถูก มหกรรมศิลปวัฒนธรรมและวิชาการ มอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ด้านศิลปวัฒนธรรม “ปิตาภรณ์แผ่นดิน” อบรมเชิงปฏิบัติการอารยนาฏกรรมอาเซียน อบรมเชิงปฏิบัติการสืบสานวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากเครื่องแต่งกายโนราสู่การเพิ่มรายได้

          ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเป็นภารกิจสำคัญในการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม ทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นรากแก้วของแผ่นดิน วัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตโดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ

          ดังนั้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมและความเป็นไทย เนื่องจากปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมได้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายกันในพื้นที่ไม่ได้รับการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟู รวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคมและจิตใจทำให้คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมลดน้อยไปจนแทบจะสูญหาย วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย ควรที่จะได้รับการถ่ายทอดเยาวชนรุ่นหลังสืบไป

          “การอนุรักษ์เป็นหนทางหนึ่งที่ยั่งยืนในการรักษา ฟื้นฟู สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนให้ดำรงอยู่ในท้องถิ่น การเรียนรู้ภูมิปัญญาให้นักศึกษาเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาจากผู้รู้ในชุมชน สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดประมวลผล ตลอดจนสนับสนุนให้นักศึกษาและชุมชน โดยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน มีความเข้าใจรากเหง้าความเป็นวัฒนธรรม แบ่งปัน เกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการศึกษาเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต ชุมชนภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีมาช้านาน บนพื้นฐานของธรรมชาติที่เกี่ยวพันสอดคล้องกันกับวิถีชีวิตชุมชน” 

© 2023 by Name of Site. Proudly created with Wix.com

bottom of page