
Songkhla Festival.com

1. ประเพณีสมโภชแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว)
การสมโภชแม่โพสพเป็นภูมิปัญญาและพิธีกรรมที่ได้รับการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานของชาวนาในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จัดเป็นภูมิปัญญาสั่งสม ซึ่งแต่เดิมแต่ละครอบครัวจะประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉพาะครอบครัว โดยเชิญหมอทำขวัญข้าวที่เคารพนับถือ หรือคนเฒ่าคนแก่ในตระกูล เป็นผู้ทำพิธี ในสมัยโบราณส่วนใหญ่ผู้นำตระกูล หรือผู้นำครอบครัวสามารถทำพิธีได้ เนื่องจากมีตำราสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาเมื่อระบบการทำนาเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำเพื่อยังชีพเป็นการทำเชิงพาณิชย์มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตทำให้ภูมิปัญญานี้ลดน้อยลง ปัจจุบันจึงเกิดการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่โดยมีการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญา จากที่ทำเฉพาะครอบครัวก็ทำร่วมกันที่ศูนย์รวมจิตใจหรือสถานที่สำคัญ คือวงเวียนแม่โพสพของอำเภอระโนด โดยทุกตำบลทุกหมู่บ้านในอำเภอระโนดจะรวบรวมข้าวแล้วนำมาทำพิธีร่วมกันโดยใช้หมอทำขวัญข้าวคนเดียว
การทำขวัญข้าว ตามประวัติบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดมีปัญหาถามว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพนั้นใครจะมีบุญคุณมากกว่ากัน ต่างก็มีการถกเถียงกันผลที่สุดมนุษย์ก็ให้แม่โพสพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม่โพสพทั้งเสียใจและน้อยใจเป็นอย่างมากพลางกล่าวว่า ตั้งแต่รักษามนุษย์มา มนุษย์ได้มีข้าวกิน ถึงแม้ว่าสิ่งอื่น ๆ จะมีพระคุณ แต่แม่โพสพก็ไม่ควรที่จะพ่ายแพ้แก่ใครๆ กล่าวจบ แม่โพสพก็หลีกหนีไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาทบกัน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างก็พากันได้รับความ เดือดร้อนร้องห่มร้องไห้ เนื่องจากต้นข้าวเมล็ดลีบเสียหายหมด เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งมีสัตว์ 2 ตัว คือ ปลาสลาดและนกคู้ลารับอาสาไปรับแม่โพสพที่ภูเขาทบกัน ปลาสลาดสมัยก่อนลำตัวจะกลม แต่พอเดินทางเข้าไปคาบเอาแม่โพสพซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขากระทบกันพอดีและทับเอาลำตัวปลาสลาดจนตัวแบน จากนั้นปลาสลาดก็คาบเมล็ดข้าวหรือแม่โพสพออกมาพ้นจากภูเขาทบกันได้ นกคู้ลาจึงฉวยโอกาสแย่งคาบเมล็ดข้าวพาบินหนีมาจนมาถูกพายุใหญ่ก็ขอร้องให้ช่วย ปลาสลาดซึ่งว่ายน้ำตามมาทันพอดีขณะที่นกคู้ลาอ้าปากจะขอช่วยทำให้เมล็ดข้าวหล่นออกจากปากของนกคู้ลา ปลาสลาดก็รับไว้แล้วคาบมาจนกลับมาถึงที่เดิมนำมามอบให้พระพุทธเจ้าแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป ตั้งแต่นั้นมามีการทำขวัญข้าวเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพ สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน และปลาสลาดก็มีลำตัวแบนมาจนถึงบัดนี้
ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้แม่โพสพพอใจและอยู่กับชาวนาต่อไป จึงได้มีการทำพิธีทำขวัญข้าว หรือพิธีสมโภชแม่โพสพ เป็นพิธีบวงสรวงแม่โพสพผู้เป็นวิญญาณแห่งข้าว โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำ ไม่หลีกลี้ไปไหน
ความมุ่งหมายของประเพณี
1. เป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวแล้วเหลือข้าว ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นขวัญข้าว
2. เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนาให้รู้ว่าการทำนาปลูกข้าวของตนนั้นจะไม่สูญเปล่า เพราะแม่โพสพเป็นผู้ดูแล
3. เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี ร่วมสนุกสนานที่ทุกคนเหนื่อยจากการทำนาและประสบความสำเร็จ
ช่วงเวลาที่จัด
การทำขวัญข้าวมักจะทำในเดือน 6 ถ้าเป็นข้างขึ้นมักจะทำในวันคี่ เช่น 13 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าเป็นข้างแรมใช้วันคู่ เช่น 8 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ แต่ส่วนมากในวันธรรมสวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ แต่ในปัจจุบันอำเภอระโนดได้จัดงานพิธีสมโภชแม่โพสพประจำปี โดยให้ประชาชนผู้สนใจจากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ร่วมพิธีด้วย จึงได้ปรับเปลี่ยนเวลามาจัดในช่วงกลางวัน และจัดในเดือนเมษายน ของทุกปี
สถานที่ บริเวณวงเวียนแม่โพสพ หน้าวัดราษฏร์บำรุง เทศบาลตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา