
Songkhla Festival.com

1. งานประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์
พระพุทธรูปสามองค์ ก่อสร้างด้วยศิลาทรายแดงนั่งเรียงกันในศาลาในฝาผนังกั้นทึบทั้งสี่ด้าน ทางเข้าออกเป็นประตูไม้ราษฎร เรียกว่า "พระสามองค์" พระพุทธรูปนี้อยู่ในบริเวณวัดเทพาไพโรจน์ (เดิมชาวบ้านเรียก วัดพระสามองค์) เล่ากันว่าเมื่อครั้งข้าหลวงนายอ่อนปกครองอำเภอเทพานั้นได้สร้างศาลาเป็นที่พักอยู่หน้าเมืองเพื่อไว้เป็นที่พักก่อนเข้าเมือง และที่ศาลานี้มีพระรูปหนึ่งชื่อ "พระนวล” ซึ่งเป็นพระธุดงค์ท่านได้นำอาหารซึ่งชาวบ้านนำมาถวายที่เหลือจากฉันมาปั้นพระพุทธรูปแล้วห่อด้วยดินเหนียวเป็นพระพุทธรูป (พระจังหัน) นำเกสรดอกไม้ที่ใช้บูชาพระที่แห้งเหี่ยวมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง (พระเกษร) และนำเศษขี้เถ้าไม้แก่นจันทร์ซึ่งเป็นไม้หอมปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง (พระแก่นจันทร์) ด้วยความตั้งใจของพระนวลนั้นเข้าใจว่าพระสามองค์นี้คงจะแทนพระรัตนตรัย โดยให้ประดิษฐานอยู่บนศาลาและได้กระทำพิธีปลุกเสกเป็นที่สักการะของชาวเมืองเทพาซึ่งได้พร้อมใจกันสร้างโครงโบกปูนทับไว้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพระสามองค์ได้แสดงอภินิหารต่าง ๆ
ชาวบ้านที่บนบานศาลกล่าวก็ได้สมปรารถนาจึงเป็นที่เคารพสักการะเป็นพระคู่บ้านคูเมืองเป็นต้นมา ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ซึ่งท่วมสูงถึง 15 เมตร จมหมดทั้งเมืองเทพาและน้ำไหลเชี่ยวมาก ทำให้เมืองเทพาพังทลาย ชาวเมืองเทพาตายเป็นจำนวนมากซึ่งข้าหลวงอ่อนก็เสียชีวิตในช่วงนี้ด้วย ศาลาหน้าเมืองก็ถูกทำลายเช่นกันแต่ก็เป็นอัศจรรย์ที่พระทั้งสามองค์มิได้รับความเสียหายแต่ประการใด ยังคงอยู่ที่ซากศาลานั้นเหมือนเดิม จากอุทกภัยในครั้งนั้นชาวเมืองเทพาที่รอดชีวิตต่างอพยพกันไปตั้งรกรากที่อื่นจนเมืองเทพากลายเป็นเมืองร้าง พระพุทธรูปทั้งสามองค์นั้นนาน ๆ เข้าก็ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้จนมองไม่เห็นองค์พระ ต่อมาราว พ.ศ.2474 ชาวไทยมุสลิมซึ่งมีอาชีพทำประมงได้มาตั้งบ้านสร้างเรือนที่บริเวณใกล้ ๆ กับพระสามองค์แต่ก็ต้องย้ายออกไปอย่างไม่มีสาเหตุ หลังจากนั้นชาวไทยพุทธซึ่งเห็นพุทธอภินิหารก็พากันสักการะและช่วยกันสร้างศาลาขึ้นมาใหม่ด้วยไม้หลังคามุงจากและมีพระมาจำพรรษาเช่นเดิม ต่อมาพระเหล่านั้นไม่สามารถจำพรรษาอยู่ได้โดยไม่ทราบสาเหตุจึงต้องกลายเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่ง ศาลาที่สร้างก็ผุพังลงไปตามกาลเวลาเหลือไว้แต่พระทั้งสามองค์
ปี พ.ศ.2495 มีคนจีนได้มาบนบานให้ลูกชายที่หายไปได้กลับคืนมาจะสร้างศาลาหลังใหม่ให้ และเมื่อได้สมปรารถนาชาวจีนคนนั้นก็สร้างศาลาหลังใหม่ด้วยไม้หลุมพอ หลังคาสังกะสี พ.ศ.2504 เกิดพายุใหญ่พัดศาลานั้นพังลงมาโดยปลายเสาทั้ง 4 ต้นรวบลงมาทุบองค์พระทั้งสามจนแตกละเอียด โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านได้ฝันว่าพระท่านจะไม่อยู่แล้วเพราะชาวบ้านไม่เอาใจใส่ ต่อมา พ.ศ.2505 นายลอย เทพไชย ศึกษาธิการอำเภอเทพาได้ชักชวนชาวบ้านบริจาคเงินทองเพื่อบูรณะพระทั้งสามองค์ใหม่โดยนำเศษผงพระเดิมที่แตกละเอียดมาบรรจุลงในพระที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งมีโครงเหล็กและทำขึ้นด้วยคอนกรีตโดยการปั้นของนายอุดม มัชฌิมาภิโร และทาด้วยสีโมเสดมองดูเหมือนพระเนื้อสามกษัตริย์พร้อมทั้งสร้างศาลาเป็นที่ประดิษฐานขึ้นอีกครั้ง ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระสามองค์นั้นมีมากโดยเฉพาะชาวจีนมีความเชื่อถือมากโดยได้มีการบวงสรวงสักการะเป็นประจำทุกปี ต่อมานายบักยัง แซ่แต้ ได้บริจาคเงินบูรณะตกแต่งใหม่อีกครั้ง และในสมัยนายจบ พลฤทธิ์ เป็นศึกษาธิการอำเภอเทพา ท่านได้สร้าง "พระจีน” พระสำนักวัดสังกระจายอีกรูปหนึ่งประดิษฐานในวิหารเดียวกัน
ความมุ่งหมายของประเพณี
1. เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความเสื่อมใส ศรัทธา ต่อพระพุทธศาสนา
2. เพื่ออนุรักษ์ เผยแพร่ และส่งเสริมวัฒนธรรม อันเป็นวิถีชีวิตที่บรรพบุรุษสืบทอดต่อๆ กันมา
3. เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน และร่วมกิจกรรมสำคัญทางพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนอำเภอ
4. เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ขั้นตอนประเพณี
ผ้าที่ใช้ในการเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ เป็นผ้าสีเหลืองมี จำนวน 3 ผืน ใช้ในการเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ให้กับพระสามองค์ทุกปี ผ้าสีเหลืองดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่วัดสุริยาราม ก่อนจะถึงวันทำพิธี เนื่องจากเจ้าคณะตำบลท่าม่วง-ลำไพล ผู้รับผิดชอบวัดสุริยารามและเป็นผู้รับผิดชอบวัดเทพาไพโรจน์ด้วยเช่นกัน โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบลร่วมกับอำเภอเทพารับผิดชอบงานประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ แต่จะมีองค์การบริหารส่วนตำบลเพียง 3 ตำบล ในอำเภอเทพา ที่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบขบวนแห่ผ้าสามองค์ทุกปี ซึ่งในแต่ละปีองค์การบริหารส่วนตำบลไหนจะเป็นเจ้าภาพในแต่ละปีนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการจัดงานประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ประชุมพิจารณา
องค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นเจ้าภาพหลัก จะต้องรับผิดชอบในส่วนของการจัดขบวนแห่ผ้าพระสามองค์ ซึ่งจะต้องตกแต่งขบวนรถแห่ให้มีความสวยงาม ในวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เพื่อนำไปร่วมขบวนแห่ในวันรุ่งขึ้น ขบวนรถแห่ผ้าแต่ละคันจะมีการประดับตกแต่งรถให้มีความสวยงาม ภายในรถจะจัดวางผ้าสีเหลือง 1 ผืน บนพานแว่นฟ้า ซึ่งจะมีรถที่ใช้แห่ผ้าทั้งสิ้น จำนวน 3 คัน ผ้าสีเหลือง 3 ผืน พร้อมทั้งบายสี 1 คู่
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตรียมขบวนนางรำหรือขบวนกลองยาว นำหน้ารถขบวนแห่ เพื่อแห่ออกไปยังวัดเทพาไพโรจน์ ซึ่งเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์
ช่วงเวลาที่จัด : วันที่ 9 เมษายน ของทุกปี
สถานที่ : วัดเทพาไพโรจน์ (พระสามองค์) หมู่ 4 บ้านท่าดี ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
คุณค่า/ความเชื่อ
การได้ร่วมประเพณีเปลี่ยนผ้าพระสามองค์ เป็นการทำบุญโดยวิธีหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพร้อมใจกันนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติ และเป็นการบวงสรวงสักการะบูชาพระสามองค์ที่ชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์บนบานศาลกล่าวสิ่งใด
ก็ได้สมปรารถนาจึงเป็นที่เคารพบูชาว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอเทพาเป็นต้นมา ทั้งๆเป็นการทำบุญปีใหม่ไทย